ข้อมูลนักวิจัย : พิทักษ์ คล้ายชม

รายละเอียดงานวิจัย
ชื่องานวิจัย : การออกแบบและหาประสิทธิภาพเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลงโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเชื้อเพลิง
ปีที่จัดทำ : 2563
ผู้จัดทำ : พิทักษ์ คล้ายชม ( เจ้าของงานวิจัย )
ประเภทงานวิจัย : บทความวิจัยระดับชาติ
สถานะ : งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์
แหล่งทุน :
แหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ : วารสารวิชาการเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ปี ()
วันที่ตีพิมพ์ : ม.ค. - มิ.ย. 63
หน้าที่ : 75-86
ค่าถ่วงน้ำหนัก : 0.6
งบประมาณ : 0.00
บทคัดย่อ :
การนำเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ หากนำไปใช้กับเตาแก๊ส ซิไฟเออร์จะทำให้ใบพัดของเครื่องเป่าลมและชุดวาล์วต่าง ๆ อุดตันเสียหายได้ง่าย เนื่องจากในเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีปริมาณน้ำมัน CNSL จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องสกัดน้ำมัน CNSL ออกก่อนจะเหลือเป็นกากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและศึกษาประสิทธิภาพเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลงที่เหมาะสมกับการใช้กากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้หลักการออกแบบเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลงชนิด V-Hearth มีขนาด 130 kW การสร้างและติดตั้งระบบแก๊สซิฟิเคชั่น ประกอบด้วยเตาแก๊สซิไฟเออร์ ไซโคลนสครับเบอร์ และหัวเผา อาศัยแรงเหนี่ยวนำของสครับเบอร์แบบเวนจูรีจำนวน 2 ชุด สร้างแรงดูดอากาศเข้าสู่เตาทดแทนการใช้เครื่องเป่าลม พร้อมทั้งศึกษาความหนาแน่น องค์ประกอบ ค่าความร้อนของกากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงความร้อนของเตาแก๊สซิไฟเออร์
ผลการวิจัย พบว่า กากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มีความหนาแน่นเฉลี่ย 486 kg/m ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) มีสัดส่วนร้อยละ 54.09 6.08 38.35 1.38 ตามลำดับ มีค่าความร้อนเท่ากับ 21,217 kJ/kg ในการศึกษาประสิทธิภาพเตาแก๊สซิไฟเออร์ สามารถวัดความเร็วอากาศที่ป้อนเข้าสู่เตาได้ 2.6 m/s มีอัตราการใช้เชื้อเพลิงเท่ากับ 11.4 kg/hr คิดเป็นอัตราส่วนอากาศต่อเชื้อเพลิงเท่ากับ 2.22 วัดอัตราการไหลของแก๊สได้ 26.79 m3/hr องค์ประกอบของโปรดิวเซอร์แก๊สที่ผลิตได้ประกอบด้วย แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) แก๊สไฮโดรเจน (H2) และแก๊สมีเทน (CH4) มีสัดส่วนร้อยละ 16 9.7 1.5 ค่าความร้อนของโปรดิวเซอร์แก๊สเท่ากับ 3.605 MJ/Nm3 และระบบแก๊สซิฟิเคชั่นที่ใช้กากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเชื้อเพลิง มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนเทำกับ 39.92 เปอร์เซ็นต์

คำสำคัญ: เตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลงชนิด V-Hearth, กากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
หมายเหตุ :
พิทักษ์ คล้ายชม, สิงหเดช แตงจวง, พรทิพพา พิญญาพงษ์. (2563). การออกแบบและหาประสิทธิภาพเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลงโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเชื้อเพลิง. วารสารวิชาการเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, 7(1), 75-86.

เอกสารประกอบ